A Quiet Word

ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์

เงินถุงแดง มรดกจากรัชกาลที่ ๓ ที่ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ ในเวลาต่อมา เมษายน 24, 2006

          
 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นคนเก่งหลายด้าน จนแทบไม่น่าเชื่อว่าคนคนเดียวจะมีคุณสมบัติได้มากมายถึงขนาดนี้ แต่ก็เป็นความจริง ทรงเป็นทั้งกวี นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการทหาร นักการศึกษา ภูมิสถาปนิก อุบาสกผู้ทะนุบำรุงพุทธศาสนา ผู้อุปถัมภ์ศิลปะไทย และเป็นนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จดีเลิศ อย่างหลังสุดนี้คือ ทรงค้าสำเภา ส่งของไปค้าขายกับเมืองจีนตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ ๒ ถึงขั้นร่ำรวยจนพระราชบิดาทรงเรียกว่า "เจ้าสัว"
          สมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ได้เสด็จออกไปเมืองจีนเอง แต่ทรงมอบให้ขุนนางไทยเชื้อสายจีนที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้จัดการบริหารงานค้าขายให้แทน ขุนนางผู้นั้นก็ได้ทำงานถวายด้วยความซื่อสัตย์ตลอดชีวิต จนบั้นปลายได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นเป็น " เจ้าพระยานิกรบดินทร์" ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล ลูกหลานเจ้าพระยานิกรบดินทร์จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า " กัลยาณมิตร" ด้วยเหตุที่ต้นสกุลได้รับพระกรุณายกย่องเป็น "มิตรที่ดีงาม" ในรัชกาลที่ ๓  ส่วนเงินกำไรที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้มาเป็นเงินส่วนพระองค์นี้ มิได้ทรงใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงใดๆ หรือยกให้พระราชโอรสธิดาตามพระทัยชอบทั้งที่มีสิทธิ์ทำได้ แต่ทรงนำมาใส่ถุงแดง แยกเป็นถุง ถุงละ ๑๐ ชั่ง ตีตราปิดปากถุง เก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องพระบรรทม ส่วนหนึ่งทรงเก็บไว้เพื่อสร้าง และทะนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในพระนครและภายนอก อีกส่วนหนึ่งก็ทรงยกให้แผ่นดิน มีพระราชดำรัสว่า "เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง" หมายถึงว่าถ้าต้องเพลี่ยงพล้ำกับข้าศึกศัตรูแล้ว จะได้นำเงินนี้ออกมาใช้กอบกู้บ้านเมือง
           พระราชดำรัสนี้น่าประหลาดตรงที่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี จนถึง ร.ศ. ๑๑๒ ก็เกิดเป็นความจริงขึ้นมา เมื่อไทยถูกฝรั่งเศสปรับโทษเป็นเงิน ๓ ล้านบาท จนท้องพระคลังมีไม่พอ ก็ได้ ‘ เงินถุงแดง ‘ ส่วนนี้ไปสมทบ ไถ่บ้านเมืองเอาไว้ได้จริงๆ แสดงว่าเงินถุงแดงที่ทรงสะสมไว้ มีจำนวนมากมายทีเดียว
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยบ้านเมืองยิ่งกว่าเรื่องส่วนพระองค์จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต ก็มิได้ทรงพะวงกับเรื่องอื่นนอกจากความสงบสุขของแผ่นดิน ถึงกับพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขุนนางข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้า ไว้เป็นครั้งสุดท้ายว่า "การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"
            น่าประหลาดอีกเช่นกัน ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในเรื่องนี้อย่างแม่นยำเช่นเดียวกับเรื่อง ‘ เงินถุงแดง ‘ เพราะถ้าเรานึกถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน แม้เวลาล่วงเลยหลังจากเสด็จสวรรคตมาแล้วถึง ๑๔๙ ปี พระบรมราโชวาทเรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งทันสมัย ควรแก่การนำมาทบทวนและเตือนใจคนไทยอีกครั้งหนึ่ง
 
 

 

 

4 Responses to “เงินถุงแดง มรดกจากรัชกาลที่ ๓ ที่ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ ในเวลาต่อมา”

  1. » K e n g « Says:

    แวะมาเยี่ยมจ้า

  2. การใช้จ่ายที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง Says:

    เรื่องนี้อยากให้คนที่อ่าน อ่านแล้วนำกลับมาใช้ในชีวิตจริง ไม่จำเป็นต้องเก็บซะทั้งหมดแต่แบ่งเป็นส่วนๆก็ได้ แค่1%ก็พอแล้วเผื่อเวลาที่เหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินส่วนนี้อาจช่วยเราได้ ใครที่มีลูกหลานฝึกให้เค้ารู้จักเก็บออมตั้งแต่เด็กโตขึ้นเข้าจะได้ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง อยากให้ทุกคนตระหนักถึงพระคุณของท่านถ้าไม่ได้ท่านก็ไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่เพียงแต่พระองค์่ท่านเพียงพระองค์เดียว ราชวงค์ทุกๆราชวงค์ถึงแม้ท่านจะทรงประกอบพระราชกรณียกิจหรือไม่ก็ถือว่ามีพระคุณล้นพ้นเช่นกัน สุดท้ายนี้ขอเตือนทุกคนอย่าประมาทในการใช้จ่ายนะค่ะ

  3. tanagon Says:

    เงินถุงเเดงคืออะไร


ใส่ความเห็น