จุดเริ่มต้นของ The Last Mimzy ย้อนไปตั้งแต่ปี 1943 เมื่อนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ลูอิส แพดเจ็ทท์ (นามปากกาของคู่สามีภรรยา เฮนรี่ คัทเนอร์ และ ซี แอล มัวร์) ตีพิมพ์เรื่องสั้นชื่อ Mimzy Were The Borogroves ในหนังสือรวมเรื่องสั้น Astounding เรื่องราวเรียบง่ายเกี่ยวกับเด็กสองคนที่ได้พบกล่องลึกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่อง The Last Mimzy ในที่สุด
ย้อนไปเมื่อปี 1990 ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เจ้าของรางวัลออสการ์ ไมเคิล ฟิลลิปส์ (The Sting, Close Encounter of the Third Kind) ได้อ่านเรื่องสั้นของแพดเจ็ทท์ขณะกำลังมองหาเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ดังๆมาเป็นไอเดียในการสร้างหนัง
“ผมรู้สึกว่ามีสมบัติล้ำค่าซ่อนอยู่ในนั้น เราอ่านเรื่องสั้นไปประมาณพันกว่าเรื่อง แต่ Mimzy Were the Borogoves กระตุ้นจินตนาการผมทันทีที่ได้อ่าน” ฟิลิปส์เล่า “รสนิยมส่วนตัวในการสร้างหนังของผมคือ ความบันเทิงที่หลีกหนีจากความเป็นจริง และเรื่องนี้ก็มีคุณสมบัติข้อนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสองคนที่พบกล่องของเล่นจากอนาคต เป็นเรื่องที่น่าติดตามมาก”
ฟิลลิปส์ยังมองเห็นศักยภาพของเรื่องราวที่จะนำมาขึ้นจอใหญ่ในแนวทางเดียวกับภาพยนตร์ไซไฟเรื่องเยี่ยมช่วงปี 1970 ถึงต้น 1980 ด้วย “หนังเรื่องนี้จะทำให้นึกถึงหนังอย่าง E.T. และ The Close Encounters of the Third Kind ที่พูดถึงความสงสัยเกี่ยวกับจักรวาลและสิ่งเหลือเชื่อที่อาจอยู่ในนั้น” ฟิลลิปส์เล่า “และมันพูดถึงเราในฐานะสัตว์โลกสายพันธุ์หนึ่งว่าจะเดินไปทางทิศไหน และเราจะกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้อย่างไรโดยกลับไปเป็นเหมือนที่เคยเป็น เรามีพรสวรรค์และศักยภาพอย่างที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน หนังนำเสนออนาคตอันสวยงามสำหรับสัตว์โลกอย่างมนุษย์เรา” ฟิลลิปส์เผยต่อว่า “เพราะฉะนั้นผมก็เลยซื้อลิขสิทธิ์เร่องสั้นนี้มาและเอาไปเสนอ บ๊อบ เชย์ ผู้บริหาร New Line Cinema ซี่งเขาพูดว่า ‘ผมรู้จักเรื่องนี้ ผมชอบมันตั้งแต่ยังเด็ก’ เราก็เลยตกลงร่วมงานกันไม่ยาก”
กลายเป็นว่า บ๊อบ เชย์ รู้สึกกระตือรือร้นมากที่เรื่องสั้นที่เขาชอบมาตั้งแต่เด็กย้อนกลับมาหาเขาอีกครั้งหลังเวลาผ่านไปหลายปี และเขาไม่ได้แค่ต้องการให้ New Line Cinema สร้างมันเท่านั้น แต่ยังต้องการกำกับมันเองอีกด้วย “มันเป็นเรื่องสั้นไซไฟที่ผมชอบที่สุดเรื่องหนึ่งสมัยเด็กๆ หลังจากที่ไมเคิลออกจากออฟฟิศ ผมก็คิดว่า ผมอยากกำกับหนังเรื่องนี้ มันคงสนุกทีเดียว ยิ่งเป็นเรื่องที่ผมชอบมานานด้วยแล้ว นั่นแหละจุดเริ่มต้นของมัน”
นอกจากนั้น เชย์ยังสนใจแก่นเรื่องร่วมสมัยเกี่ยวกับการสูญเสียความไร้เดียงสาของมนุษย์อันเกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเมื่อมนุษย์ยึดติดอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น สุดท้ายเราอาจสูญเสียยีนหรือองค์ประกอบของยีนที่เป็นตัวสร้างอารมณ์ความรู้สึก” เชย์เล่า “ถ้าเราหยุดใช้ยีนบางประเภท ยีนเหล่านั้นก็จะหยุดทำงาน และก็แน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้ใช้ความไร้เดียงสาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน ยีนนั้นก็จะถูกแทนที่ และเราก็จะลืมเลือนว่าความบริสุทธิ์ของจิตใจเป็นอย่างไร”
ข่าวเรื่องเชย์อยากกำกับเรื่องนี้เองทำให้ฟิลลิปส์ประหลาดใจไม่น้อย เพราะครั้งก่อนที่เคยร่วมงานกันเชย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างบริหารมาตลอด “บอกตามตรงนะว่าผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายกันแน่ เพราะผมไม่เคยเห็นเขากำกับ ผมรู้จักเขาในฐานะผู้อำนวยการสร้างบริหารเท่านั้น” ฟิลลิปส์เล่า “ผมไม่แน่ใจจนกระทั่งเราเริ่มเตรียมงานก่อนถ่ายทำ ผมถึงเห็นว่าเขาตั้งใจแค่ไหน เขาเข้าใจภาษาภาพยนตร์อย่างลึกซึ้งและทำได้ดีเยี่ยม หนังเรื่องนี้สร้างยากกว่าที่เราคิด มันเป็นความท้าทายที่ต้องร่วมงานกับเด็กสองคนเกือบทุกฉาก มีเอ็ฟเฟ็กต์ 340 ช็อต และกว่าครึ่งนักแสดงต้องแสดงกับสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็กต์ที่จะใส่ไปทีหลัง แต่บ๊อบ (ผู้กำกับ) ก็รับมือกับความท้าทายเหล่านั้นได้ดีเยี่ยม”
ในการสร้างฉากเอ็ฟเฟ็กต์อันซับซ้อนเหล่านั้น ทีมงานได้มอบหมายให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคพิเศษ 3 บริษัทมารับผิดชอบฉากพิเศษคนละฉาก ได้แก่ บริษัท The Orphanage (จาก A Night at the Museum, Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest, Harry Potter and the Goblet of Fire) ที่ดูแลฉากสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็กต์ส่วนใหญ่ของหนัง, บริษัท Rising Sun (จาก Superman Returns, Batman Begins และ The Lord of the Rings: Return of the King) ดูแลฉากใยแมงมุม และบริษัท Gentle Giant Studios (จาก X-Men: The Last Stand, The Da Vinci Code, The Chronicles of Narnia) ดูแลฉากสะพานเชื่อมอนาคต
เมื่อได้ บ๊อบ เชย์ มาเป็นนั่งเก้าอี้ผู้กำกับ เขาและฟิลลิปส์ก็เริ่มดำเนินงานทันที ประสบการณ์อันโชกโชนในการอำนวยการสร้างหนังของทั้งคู่เป็นประโยชน์มากสำหรับการรับมือความท้าทายของการนำเรื่องสั้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์ “เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมงเต็มยาก” ผู้กำกับ บ๊อบ เชย์ กล่าว “เรื่องราวต้องดึงความสนใจ เราต้องการเรื่องราวที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กให้การตอบรับ เพราะมีบางอย่างที่น่าหลงใหลอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยเลยเลือกเรื่องนี้และจ้างมือเขียนบทฝีมือดีชื่อ จิม ฮาร์ท มาเขียนบทร่างแรก
”บทร่างแรกนั้นเขียนเสร็จในปี 1993 และเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ที่สุดท้ายใช้ชื่อว่า The Last Mimzy “ผมเป็นผู้อำนวยการสร้างมา 35 ปี แต่หนังเรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องไหนที่ผมเคยทำ” ฟิลลิปส์เล่า “หนังเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 12 ปี มีการเขียนบทร่างทั้งหมด 19 ร่างโดยมือเขียนบท 5 คน เริ่มจาก จิม ฮาร์ท ต่อด้วย โทบี้ เอ็มเมอริช (ประธานฝ่ายงานสร้างคนปัจจุบันของ New Line Cinema ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายดนตรีประกอบและกำลังเขียนบทให้หนังไซไฟเรื่อง Frequency) สุดท้ายก็เป็น บรูซ โจเอล รูบิน ผมรู้สึกเหมือนจิมสร้างลำตัว โทบี้ให้ชีวิต และบรูซให้ปีกกับโปรเจ็คต์นี้ มันเป็นการเดินทางที่ไม่ธรรมดาเลย เหมือนขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา”
ตอน รูบิน เข้ามารับหน้าที่เขียนบทร่างสุดท้าย เขาจำเรื่องราวนี้ได้ทันที แม้จะไม่รู้ว่ามันชื่ออะไร “ตอนผม 10 ขวบ ผมได้ดูรายการทีวีรายการหนึ่ง คิดว่าเป็น Fiction Theatre นะ มีอยู่ตอนหนึ่งที่เป็นเรื่องของเด็กสองคนที่พบของเล่นจากอีกโลกหนึ่ง” รูบินเล่า “ตอนนั้นผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา แกรี่ น้องชายผมเกาะติดขอบจอรอดูว่าตอนต่อไปเด็กสองคนนี้จะทำอะไรกับของเล่น จากนั้นมันก็หายไป ผมบอกน้องชายว่ามันต้องเป็นตอนแรก อาทิตย์หน้าต้องมีตอนต่อไป เช้าวันเสาร์ของอาทิตย์ต่อมาเราก็เลยตั้งตารอดูหน้าจอ แต่ก็ไม่มี เรางงกันมาก หลายปีผ่านไปผมก็ยังข้องใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับของเล่นและเด็กสองคนนั้น แล้วผมพลาดรายการตอนนั้นไปได้ยังไง”
“แล้ววันหนึ่ง บ๊อบ เชย์ ก็โทรมาหาผมเกี่ยวกับเรื่องสั้นชื่อ Mimzy Were the Borogroves ผมนึกขึ้นได้ทันทีว่ามันคือเรื่องที่ผมเคยดูตอนเด็กๆ ในที่สุดผมก็จะได้รู้เสียทีว่าตอนจบเป็นยังไง แต่ปรากฏว่าเราไม่ได้ดูตอนจบครับ เราก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับของเล่นพวกนั้น”
ตอนจบแบบทิ้งให้คิดทำให้รูบินหงุดหงิดจนปฏิเสธที่จะเขียนบทหนังเรื่องนี้ในตอนแรก แต่หลังจากนั้นก็มีการเขียนบทหนังออกมาอีกหลายร่าง และในที่สุดมันก็กลับมาหารูบินอีก “บ๊อบส่งบทร่างที่ โทบี้ เอ็มเมอริช เขียนมาให้ผมอ่าน มันดีมาก แต่ตอนจบยังมีปัญหา ผมก็เลยมาคิดว่าจะทำยังไงดีให้มันเข้าท่า”
“ผมใช้เวลาหลายปีเดินทางท่องเที่ยวในเอเชีย และทิเบตเป็นประเทศที่มีประเพณีที่น่าสนใจมากอยู่ประเพณีหนึ่ง คือเมื่อครูสอนศาสนาคนหนึ่งตาย พวกเขาจะมองหาว่าเขากลับชาติมาเกิดเป็นใครด้วยวิธีการหลายๆอย่าง หนึ่งในนั้นคือเอาของเล่นเก่าสมัยผู้ตายยังเด็กผสมรวมกับของเล่นอื่นๆแล้วเอาไปให้เด็กจำนวนหนึ่งที่น่าจะเป็นครูกลับชาติมาเกิดเลือกถ้าเด็กคนไหนเลือกของเล่นของครูที่ตาย ก็แสดงว่าเป็นครูคนนั้นกลับชาติมาเกิด ผมคิดว่านี่อาจเป็นกุญแจสู่หนังเรื่องนี้ จะยังไงก็ไม่รู้ล่ะ แต่มันจะช่วยให้เห็นภาพหนัง กับเรื่องราวของของเล่นจากอนาคต และเด็กสองคนที่รู้ว่าต้องทำยังไงกับมัน”
รูบินสรุปที่มาที่ไปของการเข้ามาเขียนบทให้หนังเรื่องนี้ว่า “ผมอยากให้หนังเรื่องนี้สื่อถึงการสำรวจและค้นพบความบริสุทธิ์ในวิญญาณมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัสและเข้าใจได้ไม่ว่าจะยุคไหน มันเป็นเรื่องราวที่น่าเก็บรักษาเอาไว้ ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นพาหนะที่ดีสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิญญาณเชิงปรัชญากึ่งนิทาน มันเป็นได้ทั้งหมดที่ว่ามาเลย มันไม่ใช่แค่เรื่องราวธรรมดาแต่ลึกซึ้งกว่านั้น ผมแค่ต้องการเขียนบทหนังที่สื่อสารอะไรให้สังคม หนังส่วนใหญ่สร้างความบันเทิงให้คนหลีกหนีจากความเป็นจริงประมาณชั่วโมงสองชั่วโมงแล้วก็ไม่ได้ให้อะไรกลับมา ผมไม่อยากเล่าอะไรแบบนั้น ผมอยากทำหนังที่ฝากอะไรคนดูกลับไปคิด บางอย่างที่เข้าไปอยู่ในตัวคุณและเปลี่ยนคุณไปบ้างสักเล็กน้อย ผมว่า The Last Mimzy มีคุณสมบัติเหล่านั้น”
ไมเคิล ฟิลลิปส์ พูดสรุปเกี่ยวกับงานสร้างว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วตอนที่เขาตั้งใจอ่านวรรณกรรมไซไฟคลาสสิคเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง “เรื่องนี้ทรหดมากกว่าจะได้ขึ้นจอใหญ่ ผมมองเห็นศักยภาพของมันถึงได้อดทนมานาน สิ่งที่ผมใช้วัดคือความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง นั่นคือสิ่งที่ผมมองหา ผมเชื่อว่าถ้าคุณมีไอเดียที่สร้างสรรค์ มีจินตนาการ และสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดี ผู้ชมก็จะให้การตอบรับ”
|