พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
ที่มา : http://www.ecitizen.go.th/view.php?SystemModuleKey=buss&id=434
http://www.consumerthai.org/data/right.html
สิทธิผู้บริโภค
ระยะนี้มีผู้ร้องเรียนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์มามากเรื่องเครื่องคิดเงินของห้างค้าปลีกยักษ์คิดราคาสินค้าเกินจากราคาป้าย ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้ามักไม่สังเกต หรือไม่อยากเสียเวลาด้วย เพราะเป็นเงินเล็กน้อย และบางทีรู้สึกละอายเสียหน้าที่ไปตอแยกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
สิ่งที่ห้างมักจะอ้าง คือ มีการเปลี่ยนราคาบ่อย จึงอาจจะเกิดความผิดพลาด ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของห้าง
ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่ห้างปฏิบัติ คือ การให้ลูกค้าเดินไปติดต่ออีกแผนกหนึ่ง เพื่อทำเรื่องขอคืนเงิน ซึ่งบางครั้งก็เป็นเงินเพียง 2-5 บาท แต่ลูกค้าซึ่งบางทีก็อยู่ในภาวะเร่งรีบ ไหนจะต้องจะพาลูกกลับบ้าน หรือกลัวว่าสินค้าสดที่ซื้อและจ่ายเงินแล้วอาจจะเสีย ถ้าไม่รีบนำกลับบ้านไปใส่ตู้เย็น
ดังนั้น จึงเท่ากับว่า ลูกค้า หรือ ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิสองต่อ
คนไทยมักจะเป็นคนขี้อายในเรื่องเช่นนี้ ผิดกับในโลกตะวันตก ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยึดถือเรื่องหลักการ ความถูกต้อง และสิทธิของตน เมื่อเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับตน ก็มักจะเอาเรื่องห้างจนถึงที่สุด
กฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงจัง โดยมีบทลงโทษปรับอย่างหนักต่อการโฆษณาหลอกลวง (เช่นรังนกแท้) หรือฉ้อโกงผู้บริโภค ถ้าเกิดกรณีข้างต้นในเรื่องการคิดราคาแพงกว่าป้ายราคา ผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้ารายการนั้นโดยไม่ต้องจ่ายเงินเลยโดยอัตโนมัติ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 57 จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง" โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.ขึ้นมาดูแล แต่ สคบ.ก็มักจะอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนมาเยอะ และไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะมาดูแลทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเล็กน้อยข้างต้น
อันที่จริงลูกค้าของห้างค้าปลีกยักษ์ทั่วประเทศมีวันละหลายแสนคน และสินค้ามีหลายแสนรายการ ถ้าหากว่ามีเจตนาคิดผิด รายการละ 50 สตางค์ ถึง 1 บาท เมื่อคูณจำนวนสินค้ากับจำนวนลูกค้าซึ่งเป็นตัวเลขทวีคูณ ห้างค้าปลีกยักษ์ก็จะได้กำไรจากการ ฉ้อโกงโดยวิธีไฮเทค วันละหลายล้านบาท เดือนละหลายสิบล้าน และปีละหลายร้อยล้านบาท โดยไม่ต้องจ่ายภาษี แล้วส่งเงินออกนอกไปเข้าบริษัทแม่ในต่างประเทศ สบายใจเฉิบไปเลย
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับ สคบ.ที่จะมองข้ามได้ การป้องกันเรื่องนี้น่าจะออกบทลงโทษเหมือนอย่างในต่างประเทศ คือ ถ้าราคาสินค้าที่เครื่องคิดเลขคิดสูงกว่าราคาป้าย ลูกค้าก็มีสิทธิได้รับสินค้ารายการนั้นฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไข
ถือว่าเป็นบทลงโทษที่ยุติธรรม ไม่เสียเวลาทั้งของ สคบ. และลูกค้า ในการทำเรื่องร้องเรียนมาให้ยุ่งยาก