A Quiet Word

ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์

ความกลัวที่ปกติและที่ผิดปกติ กุมภาพันธ์ 7, 2008

 โดย นพ.สเปญ อุ่นอนงค์
 
 
ความวิตกกังวลเกิดได้กับทุกคน
ความวิตกกังวลเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์  คนเราทุกคนต้องเคยมีความวิตกกังวล คนที่ไม่เคยกังวลอะไรเลยเป็นคนไม่ปกติแม้แต่มนุษย์ถ้ำยังต้องกังวลว่ามื้อหน้าจะมีอะไรเป็นอาหาร  จักรพรรดิ์โรมันยังต้องคิดหนักเมื่อจะทำการใหญ่โต  เราเองก็เช่นกันเรามีเรื่องมากมายที่จะต้องเป็นห่วงเป็นกังวล อาจจะเป็นเรื่องงาน ปัญหาชีวิตคู่ หรือเรื่องลูก เรามีความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลอาจเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง  ความวิตกกังวลเป็นสิ่งปกติและเกิดขึ้นกับแทบทุกคนแม้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความกังวลสำหรับแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน  แต่กิจกรรมหลายๆอย่างก็มักทำให้คนเกือบทุกคนเกิดความวิตกกังวลความกังวลอาจเกิดจากกิจวัตรประจำวันบางอย่างเช่นขณะขับรถบนทางหลวงที่มีการจราจรหนาแน่นเราจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา  พนักงานที่มีงานไม่มั่นคงต้องคอยกังวลกลัวจะตกงาน ผู้บริหารระดับสูงเองก็ต้องกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจ  พนักงานรับโทรศัพท์ก็ต้องคอยเบื่อหน่ายกับโทรศัพท์จากพวกลามก  แม่บ้านต้องกังวลกับข้าวของที่คอยจะขึ้นราคา สามีทะเลาะกับภรรยา  พ่อแม่ทะเลาะกับลูก จะเห็นว่าเราแทบจะไม่สามารถอยู่โดยไม่มีความวิตกกังวล
 
ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังนั้นเราจึงต้องรู้จักวิธีที่จะอยู่กับมัน  หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงความวิตกกังวลทั้งแบบปกติและไม่ปกติ  การเข้าใจธรรมชาติของความวิตกกังวลจะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของเราได้ดีขึ้นและรู้ว่าควรปรึกษาจิตแพทย์เมื่อไร  ผู้เขียนจะแทรกคำบรรยายของผู้ป่วยจริงๆในช่วงที่เหมาะสม  ช่วงหลังของหนังสือจะเป็นวิธีการรักษาภาวะวิตกกังวลทั้งโดยจิตแพทย์และโดยการรักษาด้วยตนเอง
ความวิตกกังวลคืออะไร
 
ความวิตกกังวลเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในสภาวะอับจน  เราจะรู้สึกกลัวแม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ว่ากลัวอะไร  ความกังวลและความกลัวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันในภาษาอังกฤษมีศัพท์ที่แสดงอารมณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับความกลัวและความกังวลมากมายเช่น  apprehension(หวาดหวั่น), uneasiness(ไม่สบายใจ), nervousness(ตื่นกลัว), worry(กลุ้มใจ), disquiet(ไม่สงบ), solicitude(ความห่วงใย), concern(เป็นธุระ), misgiving(ความสงสัย), qualm(ความประหวั่นพรั่นพรึง), edginess(ความหงุดหงิด), jitteriness(อกสั่นขวัญหนี), sensitivity(ความรู้สึกไว), dis-ease(ไม่เป็นสุข); being pent up(อัดอั้น), troubled(เป็นทุกข์), wary(ระวังระไว), unnerved(ประสาทเสีย), unsettled(ยุ่งเหยิง), upset(ไม่พอใจ), aghast(ตกตะลึง), distraught(คลุ้มคลั่ง), หรือ threatened(น่ากลัว); defensiveness(แก้ตัว), disturbance(ความไม่สงบ), distress(เป็นทุกข์), perturbation(กระวนกระวาย), consternation(ความอกสั่นขวัญหนี), trepidation(ความประหม่า), scare(ตื่นตกใจ), fright(ตกใจกลัว), dread(น่ากลัว), terror(น่าสยดสยอง), horror(น่าขยะแขยง), alarm(ตื่นตกใจ), panic(ตื่นตระหนก), anguish(ความปวดร้าว), agitation(กระวนกระวาย) การที่มีศัพท์เกี่ยวกับ
ความกังวลและความกลัวมากๆแสดงว่าความกลัวและความวิตกกังวลเป็นสิ่งสำคัญ  โดยทั่วไปความกลัวและความวิตกกังวลมีส่วนคล้ายกันมาก  เมื่อสิ่งกระตุ้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเราจะเรียกอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่าความกลัว  เราเรียกอารมณ์ของคนที่กำลังเจอสิงโตกระโจนเข้าใส่ว่ากลัว  ส่วนในคนที่กำลังจะสอบเราเรียกว่ากังวล  คำว่า"fear"ซึ่งแปลว่ากลัวเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า"faer"ซึ่งแปลว่าอันตรายหรือความหายนะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน  ส่วนคำว่า "anxious" ซึ่งแปลว่าวิตกกังวลมาจากภาษาละตินว่า "anxius" ซึ่งแปลว่าความทุกข์ใจจากสิ่งที่ไม่แน่นอนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาษากรีกซึ่งแปลว่ากดหรือรัดให้แน่น
คนส่วนใหญ่มักมีความกลัวอะไรบางอย่างเล็กๆน้อยๆ เด็กๆมักกลัวพ่อแม่ทิ้ง  กลัวคนแปลกหน้า  กลัวสัตว ์ กลัวเสียงประหลาด  หรือสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย  ผู้ใหญ่อาจกลัวความสูง  กลัวลิฟท์  กลัวความมืด  กลัวเครื่องบิน  แมลงมุม  หนู  การสอบ  หรือกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติเช่น  กลัวผี  ไม่กล้าเดินลอดใต้บันใด เป็นต้น  ความกลัวเล็กๆน้อยๆแบบนี้ไม่ทำให้ถึงกับต้องคอยหลีกเลี่ยงสิ่งดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาและสามารถแก้ได้ด้วยการคิดหาเหตุผลและไม่ต้องรับการรักษา
 
ความกลัวเป็นการตอบสนองตามปกติต่อการคุกคามทั้งที่เกิดขึ้นจริงๆและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อพฤติกรรมของเราและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเราเองสามารถรับรู้ได้และคนอื่นก็อาจสังเกตุเห็นเช่นกัน ขณะเกิดความกลัวเราจะรู้สึกหัวใจเต้นแรง  ชีพจรเต้นเร็วขึ้นเหงื่อออกที่หน้าผาก  แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจต้องใช้เครื่องมือวัดเช่นการเปลี่ยนแปลงของความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง  พฤติกรรมขณะที่เกิดความกลัวที่เห็นชัดๆมี 2 แบบ  แบบแรกคือทำอะไรไม่ถูก  ยืนตัวแข็ง  พูดไม่ออก  ในสัตว์บางชนิดเวลาตกใจจะแกล้งทำเป็นตายซึ่งอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมตอบสนองต่อความกลัวในลักษณะนี้  พฤติกรรมอีกแบบคืออาการตื่นตกใจ กรีดร้อง วิ่งหนี พฤติกรรมทั้ง 2 แบบอาจเกิดร่วมกันขณะเกิดความกลัวและสัตว์(หรือคน)อาจเปลี่ยนพฤติกรรมกลับไปกลับมาได้อย่างรวดเร็ว  เช่นสัตว์ที่กำลังตกใจอาจยืนตัวแข็งสักพักแล้วรีบจึงวิ่งหนี
 
ความกลัวและความกังวลที่รุนแรงทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่น  หน้าซีด  เหงื่อออก ขนลุก  ม่านตาขยาย  หัวใจเต้นแรงและเร็ว  ความดันโลหิตสูงขึ้น  กล้ามเนื้อตึงตัวและมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น  ตัวสั่น  สะดุ้งง่าย  ปากคอแห้ง  หายใจเร็วและรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง  ท้องไส้ปั่นป่วน  คลื่นไส้  รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ  ฉุนเฉียว  อยากร้องไห้  อยากวิ่งเตลิด  อยากซ่อนหน้า  มือเท้าชาอ่อนปวกเปียก  รู้สึกแปลกๆเหมือนอยู่ในฝันหรือเหมือนมองมาจากที่ไกลออกไป  ถ้าความกลัวหรือความกังวลเกิดอยู่นานๆเราจะรู้สึกเหนื่อย  เชื่องช้าลง  ซึมเศร้า  กระสับกระส่าย  กินอะไรไม่ลง  นอนไม่หลับ  ฝันร้าย  และจะคอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่คล้ายๆกันนั้น
 
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะเกิดความวิตกกังวล
เราสามารถรับรู้อารมณ์ของเราได้จากความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นขณะเกิดอารมณ์นั้น ในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่ใช้บรรยายความรู้สึกโดยพาดพิงถึงส่วนของร่างกายอยู่มากมาย เพื่อนของผู้เขียนผู้หนึ่งคือนพ.จูเลียน เล็ฟท์(Dr.Julian Leff) เคยเขียนแสดงการใช้คำบรรยายความรู้สึกด้วยสำนวนดังกล่าวไว้ดังนี้
หัวใจของฉันเต้นตูมตามปากคอสั่นขณะที่ฉันกำลังข้ามถนนไปแม้ว่าฉันจะเกลียดเขาเข้าไส้ท้องไส้ของฉันปั่นป่วนเมื่อฉันเข้ามาถึงบ้านเขา ฉันเคาะประตู หัวใจของฉันแทบจะตกไปอยู่ที่ตาตุ่มเมื่อได้ยินเสียงฝีเท้าของเขาใกล้เข้ามา  สันหลังของฉันเย็นวาบเมื่อเขาหมุนลูกบิดประตู  เขาเปิดประตูออกมาฉันขนลุกซู่เมื่อเห็นเขา  "บอกตรงๆเลยว่าฉันสะอิดสะเอียนคุณจะแย่แล้ว" ฉันพูดโพลงออกไป  เขากลับหัวเราะเย้ยๆทำให้ฉันรู้สึกว่าในคอมันตีบตันขึ้นมา  "คุณนี่เป็นก้างขวางคอจริงๆนะ"  เขาตะคอก  ฉันกลืนน้ำลายเอื๊อก  "ฉันมานี่ก็เพราะผู้หญิงที่คุณหักอกน่ะแหละ"  ฉันย้อนไป  ในใจที่ครุ่นคิดถึงอามันด้าทำให้ฉันรู้สึก  เหมือนมีก้อนมาจุกที่คอ  เขาหันหลังขวับ  ฉันสะดุ้งสติสตังแทบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว  ในหัวหมุนติ้วขณะที่ฉันเอื้อมมือมาจับ…
เวลาตกใจสารเคมีในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นมีการหลั่งอะดรีนาลีนจากต่อมหมวกไต  และมีการหลั่งนอร์อะดรีนาลีนจากปลายเส้นประสาททั่วร่างกายเป็นต้น  นอกเหนือจากขณะที่มีความกลัวหรือความกังวลแล้วการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีเหล่านี้ยังเกิดขึ้นขณะเกิดอารมณ์อื่นๆด้วย
ชาร์ลส์  ดาวินผู้คิดทฤษฎีวิวัฒนาการเคยบรรยายให้เห็นภาพพจน์ของความกลัวไว้ดังนี้
คนที่กำลังตกใจจะยืนนิ่งราวกับรูปปั้น ไม่กระดุกกระดิก  ไม่หายใจ หัวใจเต้นถี่และแรง  ผิวหนังจะซีดเผือด  เหงื่อจะเริ่มซึม  ผิวหนังจะเย็นเฉียบ ขนและผมลุกซู่  เนื้อตัวสั่น  หายใจหอบถี่  ปากแห้ง จุดสังเกตุที่ดีที่สุดอันหนึ่งคือการสั่นของกล้ามเนื้อทั้งตัวซึ่งมักจะเห็นได้ที่ริมฝีปากก่อน  เมื่อความกลัวทวีความรุนแรงมากขึ้น…หัวใจจะเต้นอย่างรุนแรงหรืออาจหยุดเอาเสียเฉยๆทำให้เกิดอาการเป็นลม ผิวหนังซีดเหมือนคนตาย  หายใจไม่ออก  จมูกบาน  รู้สึกฝืดคอ  ตาถลน ม่านตาขยาย  เนื้อตัวเกร็ง  และเมื่อความกลัวถึงขีดสุดจะมีการกรีดร้องอย่างสุดเสียง เม็ดเหงื่อผุดขึ้นบนผิวหนัง  กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย  คลายตัวทำให้รู้สึกหมดเรี่ยวแรง  สมองคิดอะไรไม่ออก  ลำไส้ปั่นป่วน  กล้ามเนื้อหูรูดไม่ทำงาน  ทำให้กลั้นอุจาระและปัสสาวะไว้ไม่ได้
 
เราจะสังเกตุเห็นความกังวลของคนอื่นได้ไหม?
เราจะสังเกตุอาการของคนที่กำลังตื่นตกใจได้ง่ายกว่าคนที่กำลังดีใจหรือแปลกใจ คนต่างวัฒนธรรมกันอาจจะสังเกตุกันยากขึ้นโดยเฉพาะความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเล็กๆน้อยๆแต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงชัดเจนแล้วจะสังเกตุกันได้ง่ายขึ้น  ถ้าเรามานั่งดูภาพถ่ายของคนในอารมณ์ต่างๆกันเราจะไม่เห็นพ้องตรงกันไปหมดทุกภาพ  อารมณ์ของเด็กอ่อนๆยิ่งดูยากขึ้นไปอีกเพราะสามารถแสดงอารมณ์ได้ไม่กี่แบบ  เราสามารถบอกความแตกต่างระหว่างคนที่กำลังสบายใจและคนที่กำลังตื่นตกใจได้ไม่ยาก  แต่สำหรับคนที่กำลังกลัวๆ  กำลังแปลกใจ  อิจฉา  ขยะแขยง  โกรธ เราอาจสังเกตุแยกจากกันได้ยากขึ้น  คนในภาพถ่ายที่กำลังร้องไห้ด้วยความตื้นตันดีใจก็อาจแยกจากคนที่กำลังร้องไห้เสียใจ ได้ยาก
 
ความตึงเครียดอาจให้ความสุขได้เช่นกัน
โดยทั่วไปเรามักรู้สึกว่าความวิตกกังวลเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายแต่เราก็ไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงมันทุกครั้ง  ในทางตรงกันข้ามคนบางคนกลับแสวงหาและพอใจกับการเอาชนะสิ่งที่เป็นอันตราย  นักแข่งรถ  นักสู้วัวกระทิง  นักไต่เขา  สนุกกับการเอาตัวเข้าไปเสี่ยงอันตราย  คนดูทั้งหลายก็สนุกและตื่นเต้นไปด้วย  หนังสือหรือภาพยนต์ประเภทสยองขวัญมักจะทำเงินได้มหาศาล  การแข่งรถแบบชนแหลกก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสุขจากการเกิดความกลัวและความกังวล  การเล่นจ๊ะเอ๋ซึ่งเด็กเล็กๆชอบนั้นก็เป็นความสุขจากความกังวลอีกอย่างหนึ่ง  เด็กเล็กๆจะสนุกเมื่อเห็นพ่อแม่แอบหายไปประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็โผล่กลับมาใหม่  ช่วงที่พ่อแม่แอบอยู่นั้นเด็กจะดูเครียดๆ  แล้วจะส่งเสียงดีใจเมื่อพ่อแม่โผล่หน้ามาจ๊ะเอ๋  แต่ถ้าพ่อแม่แอบนานเกินไปเด็กจะกลัวและอาจจะถึงกับร้องไห้เลยก็ได้  
เมื่อไรที่ความวิตกกังวลมีประโยชน์และเมื่อไรที่ไม่มีประโยชน์?
 
ความกลัวอย่างรุนแรงทำให้เราทำอะไรไม่ถูกและบั่นทอนสมรรถภาพในการทำงานของเรา  ในทางกลับกันความกังวลน้อยๆอาจมีประโยชน์โดยทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและทำอะไรได้ฉับไวขึ้น  นักแสดงและนักการเมืองมักบอกว่าการมีความกังวลน้อยๆก่อนการแสดงหรือก่อนการปราศัยจะช่วยให้เขาไม่ลืมบท  นักเรียนที่จะสอบก็มีความกลัว  คนที่จะกระโดดร่มดิ่งพสุธาก็มีความกลัว แม้แต่นักบินประจัญบานยังยอมรับว่าความกลัวช่วยให้เขาทำการรบได้ดีขึ้น  ความกังวลพอดีๆจะช่วยให้เราทำอะไรได้ดีขึ้น  น้อยไปก็จะทำให้เราเผลอเรอ  มากไปเราก็จะทำอะไรไม่ถูก  มีการศึกษาพบว่านักกระโดดร่มที่มีประสบการณ์จะมีความกลัวเพียงเล็กน้อยในขณะที่นักกระโดดร่มหัดใหม่จะกลัวมากโดยเฉพาะก่อนกระโดด  การมีประสบการณ์มาก่อนช่วยให้เราเกิดการเตรียมพร้อมที่เหมาะสม  จากการศึกษาในทหารอเมริกันพบว่าทหารใหม่มักไม่ค่อยกลัวและมักไม่ค่อยใส่ใจกับมาตรการความปลอดภัย  แต่จะหูตาไวขึ้นเริ่มแสดงความกลัวและประมาทน้อยลงเมื่อผ่านการรบจริงๆมาบ้าง
 
ความกลัวน้อยๆอาจช่วยให้คนเราจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่พบว่าคนที่ไม่กลัวเลยในช่วงก่อนผ่าตัดนั้นหลังผ่าตัดจะมีปัญหาจากความเจ็บปวดและความไม่สบายต่างๆนานารวมทั้งความหงุดหงิดไม่พอใจมากกว่าคนที่แสดงความกลัวอยู่บ้างในช่วงก่อนผ่าตัด  ผู้ป่วยกลุ่มหลังนี้สามารถปรับตัวได้ดีกว่าและแสดงความกลัวหลังผ่าตัดน้อยกว่า  ส่วนผู้ป่วยที่มีความกังวลก่อนผ่าตัดมากจะแสดงความกลัวมากหลังผ่าตัดและบ่นปวดบ่นไม่สบายมาก  ดังนั้นความกลัวและความกังวลในปริมาณน้อยๆอาจมีประโยชน์แต่ในปริมาณที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปจะไม่มีประโยชน์และยังอาจเกิดผลเสียด้วย  นักกระโดดร่มหัดใหม่จะกระโดดได้ไม่ดีถ้ากลัวมากๆและแม้แต่นักกระโดดร่มที่ชำนาญแล้วก็ยังหวั่นๆว่าเขาอาจจะเกิดกลัวขึ้นมาแล้วจะกระโดดไม่ได้  ขณะเกิดแผ่นดินไหวหรือไฟไหม้ผู้คนที่กำลังแตกตื่นตกใจอาจวิ่งหนีเอาตัวรอดแบบไม่รู้ทิศทางและอาจลืมสิ่งที่เป็นภาระสำคัญไปเลยเช่นแม่อาจลืมอุ้มลูกออกมาด้วย  ทหารที่กำลังโดนยิงถล่มอาจมีอาการอาเจียน  อุจจาระราด  ทำอะไรไม่ถูก  ลืมหลบเข้าที่กำบัง  หรือลืมพาผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบเข้าที่กำบัง  นักแสดงหรือนักพูดอาจตื่นเต้นจนลืมบทและพูดอะไรไม่ออก  ความกังวลขนาดน้อยๆจะกำจัดได้ยาก  ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการตื่นตระหนกขึ้นมาทันทีโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆแล้วอยู่ๆอาการก็หายไปเองโดยไม่ต้องทำอะไร  อาการตื่นตระหนกดังกล่าวมักเกิดโดยไม่มีเหตุกระตุ้นชัดเจน  บางครั้งผู้ป่วยอาจพยายามปะติดปะต่อเหตุการณ์แล้วเหมาเอาว่าอาการนั้นๆเกิดจากสิ่งที่ตนเพิ่งกระทำไปก่อนเกิดอาการและพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นอีก  เช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งเข้าใจว่ายาตัวใหม่ที่ได้รับทำให้เกิดอาการนี้และไม่ยอมรับประทานยานั้นอีกทั้งๆที่อาการที่เกิดขึ้นก็เป็นอาการเดียวกันกับที่เขาเป็นก่อนได้รับยานั้น  
ความตื่นเต้นที่เกิดหลังจากเหตุการณ์ฉุกเฉินผ่านพ้นไปแล้ว
 
ในสถานการคับขันเราจะทำอะไรไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิดแต่เมื่อเหตุร้ายผ่านพ้นไปเราอาจเกิดความตื่นเต้นทีหลังได้  คนขับรถรายหนึ่งเล่าให้ฟังหลังจากรอดจากการเกิดอุบัติเหตุว่า  ผมขับรถขึ้นเนินมาและเห็นเด็กผู้ชายอายุราวๆ๖ขวบคนหนึ่งยืนอยู่ข้างถนนห่างออกไปราวๆ ๒-๓ เมตรท่าทางเหมือนเขาเห็นผมและกำลังรอให้รถของผมผ่านไป  แต่อยู่ๆเขาก็ข้ามถนนพรวดออกมา  ผมเหยียบเบรคเต็มแรงรถหยุดห่างจากเขาไม่ถึงนิ้ว  ความรู้สึกของผมตอนนั้นเหมือนกับดูหนังอยู่แต่พอผมขับรถต่อไปหัวใจของผมเริ่มสั่น  เหงื่อเริ่มแตก  ตัวสั่น  มือไม้สั่นไปหมด  ความสุขุมเยือกเย็นเมื่อครู่นี้หายไปหมด  เป็นอย่างนี้อยู่ราวๆ๑๕นาทีจึงค่อยๆดีขึ้น
ความตื่นเต้นอาจเกิดหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นชั่วโมงก็ได้ซึ่งจะพบได้บ่อยในสงครามนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้หนึ่งออกปฏิบัติการเป็นครั้งที่ ๖  ขณะเริ่มทิ้งระเบิดนักบินผู้ช่วยก็ถูกยิงเข้าที่หน้า  ตายทันที  นักบินยังไม่รู้และพยายามเปลี่ยนหน้ากากออกซิเจน  ภาระกิจคราวนี้ยากมากและต้องบินวนอยู่เหนือเป้าหมายถึง ๓ รอบแต่เขาก็ทำได้สำเร็จอย่างเยือกเย็นและได้รับคำชมเชยเมื่อกลับถึงฐาน  แต่เมื่อเขากลับไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเขาก็เริ่มมีอาการสั่น  เขาไปหาหมอและร้องไห้ฟูมฟายด้วยความตื่นตระหนก  คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายๆอย่างในขณะเกิดเหตุมักควบคุมตัวเองได้ดีในขณะนั้นแต่อาจมีความรู้สึกตามมาในภายหลัง  นักบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกรายหนึ่งอายุ๑๙ ปี  เครื่องบินของเขาเสียหายหนัก  เขาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟัง..
..ลูกเรือประจำป้อมปืนขึ้นมาบอกผมว่า "เทอร์รี่ตายแล้ว"  ผมถามกลับไปว่า "แน่ใจเหรอ? บางทีผมอาจจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง" ผมตามลงไปและดูด้านหลังศรีษะของเขา – หลุดหายไปทั้งแถบเลยครับ  เลือดกรระจายไปทั่ว  ผมแกะเสื้อของเขาออก – ไม่มีเสียงหัวใจเต้น  [กลัวไหมตอนนั้น?] โอ้ย! ผมไม่เคยกลัวอะไรหรอกครับถ้ากลัวผมเผ่นออกมาแล้ว  ผมเปิดเปลือกตาเขาดู – ว่างเปล่า!  ถ้าเขายังไม่ตายเขาก็ต้องหายใจ  ผมมองดูไดอะแฟรมของเครื่องออกซิเจน – ไม่ขยับ! เขาตายแล้วจริงๆ  "แกตายแล้วนะ" ผมพูดออกไปแล้วผมก็มาด้านหน้าผมจะกลัวได้อย่างไรกันในเมื่อผมยังต้องนำเครื่องกลับ?  ผมไม่รู้สึกกลัวเลยจนกระทั่งถึงพื้นดิน ถึงตอนนี้ผมเริ่มสั่นไปทั้งตัว  หลังจากปฏิบัติการคราวนั้นเขากลายเป็นคนขวัญอ่อนและขึ้นบินอีกไม่ได้ถึงหนึ่งปีเต็มๆ
"แล้วอย่างผมนี่ปกติหรือเปล่า? ต้องรักษาไหม?"
นี่คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายๆคน  จริงๆแล้วความกังวลที่เป็นปกติและผิดปกติมีส่วนคาบเกี่ยวกัน  ถ้าใครอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายแล้วไม่มีความกลัวนับว่าผิดปกติ  อีราสมุสเคยกล่าวถึงจุดนี้  ในศตวรรษที่ ๑๕ เขาอพยบหนีโรคกาฬโรคซึ่งกำลังระบาดมีคนตายเป็นเบือและเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อพยบหนีไปเหมือนกัน  "พูดจริงๆนะฉันว่าในสถานการณ์แบบนี้คนที่ไม่กลัวไม่ใช่คนใจกล้าหรอกแต่เป็นคนโง่มากกว่า"  เราจะรู้สึกกลัวหน่อยๆเวลายืนอยู่บนหน้าผาหรือพบคนแปลกหน้ามากๆ  ในต่างประเทศที่เรายังไม่เคยไป  ความกังวลแบบนี้พบบ่อยเป็นสิ่งปกติและช่วยให้เราระวังตัว  ในทางกลับกันมีไม่กี่คนไม่ไปทำงานเพราะกลัวรถเมล์ทำให้เดือดร้อนและผิดปกติ  การกลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัวจนต้องคอยหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นเป็นอาการที่เรียกว่าโรคประสาทกลัว  บางครั้งบางคราวเราอาจเกิดความรู้สึกเครียดและหวาดกลัวจนเราเองก็ชักไม่ค่อยแน่ใจว่า "เอ..เรานี่ถึงขั้นบ้าไปแล้วหรือเปล่าเนี่ย?" ความวิตกกังวลไม่ทำให้เราเป็นบ้าและเรามักจัดการกับความกังวลของเราเองได้โดยอาจปรึกษาญาติๆหรือเพื่อนๆ  แต่บางครั้งแม้หมอตรวจอย่างละเอียดแล้วบอกว่าเราไม่เป็นมะเร็งหรือโรคพิษสุนัขบ้าแน่ๆแต่เราก็ยังอดกังวลไม่ได้  ถ้าความกังวลของเรารุนแรงจนแก้ด้วยวิธีทั่วๆไปไม่ได้เราควรปรึกษาจิตแพทย์
ความวิตกกังวลที่รุนแรงมากจนต้องการการรักษาและเราถือว่าผิดปกตินั้นเป็นอารมณ์ชนิดเดียวกับความกังวลตามปกติแต่จะมีความรุนแรงมากกว่ากันเท่านั้น  ผู้ป่วยที่กำลังเกิดอาการกลัวมักถามว่า "ผมยังเป็นปกติอยู่ไหมหมอ?" คำตอบคือเขายังเป็นปกติแต่ความกลัวของเขาผิดปกติ  ความวิตกกังวลบางครั้งอาจเป็นมากจนผิดปกติในแง่ของความรุนแรงแต่คนๆนั้นยังเป็นปกติในด้านอื่นทุกๆด้าน  บางรายเกิดอาการที่เรียกว่าอะโกราโฟเบีย (agoraphobia,กลัวสถานที่บางอย่างเช่น ที่แคบๆ  ที่โล่งๆ  ที่ๆมีคนแน่นๆ) ก็ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังจะเป็นบ้าแต่ยังเป็นคนปกติที่เกิดความกลัวเหมือนคนทั่วไปแต่รุนแรงผิดปกติจนรบกวนชีวิตประจำวัน  คำถามอื่นๆได้แก่  "จะหายไหม  เป็นกรรมพันธุ์ไหม จะทำยังไงถ้าผมเป็นมากจนดูแลครอบครัวไม่ได้  ความย้ำคิดจะทำให้ผมจะเผลอทำร้ายลูกเมียไหม?"  ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องไม่ว่าจะโดยแพทย์หรือโดยการรักษาด้วยตนเองก็ตามอาการโรคประสาทกลัวส่วนใหญ่จะหายได้  สองบทสุดท้ายจะกล่าวถึงสิ่งที่ท่านจะต้องปฏิบัติ  บางครั้งญาติๆบางคนอาจติดอาการกลัวตามไปด้วยซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นถ้าได้รับการรักษาที่ดี  ถ้าญาติบางคนมีอาการกลัวแบบเดียวกับผู้ป่วยเราก็สามารถให้การรักษาแบบเดียวกันในกรณีที่ความกลัวทำให้เราให้ความรักกับลูกๆไม่ได้เด็กอาจมีปัญหาแต่เด็กก็อาจได้รับการดูแลเอาใจใส่จากสามีหรือภรรยาหรือจากญาติๆได้  ไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตามถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเราจะสามารถเอาชนะความกลัวและกลับไปทำหน้าที่พ่อแม่ที่น่ารักได้แน่  และในผู้ป่วยที่มีความย้ำคิดที่จะทำร้ายใครก็มักไม่เผลอทำลงไปจริงๆ(ดูบทที่๙)  นิสัยบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ดีถ้าตัวเราเองไม่รู้สึกรำคาญและอาจจะภาคภูมิใจด้วย  ถ้าเราเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนมีระเบียบเราอาจทำตามระเบียบกฏเกณฑ์ต่างๆได้ง่ายซึ่งก็เป็นผลดีต่อการทำงาน  แต่ถ้าวันทั้งวันเราต้องคอยคิดแล้วคิดอีกตัดสินใจอะไรไม่ได้  คอยเอาชนะความย้ำคิดที่ผุดเข้ามา  คอยตรวจตราประตูหน้าต่าง  ทำให้คนรอบข้างพลอยหัวปั่นไปกับความพิลึกพิลั่นของเรา  แบบนี้ความภูมิใจคงสลายไปเพราะความย้ำคิดย้ำทำซึ่งน่ารำคาญเสียเวลาและทรมาน  ความกลัวและความตึงเครียดเล็กๆน้อยๆไม่จำเป็นต้องรับการรักษาแต่บางครั้งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น  การเข้าใจปัญหาของตัวเองและรู้ว่าคนอื่นก็เป็นเหมือนกันจะทำให้เราสบายใจขึ้น  เรามักจะสามารถเอาชนะความกังวลในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองโดยอาจใช้วิธีต่างๆที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้หรือด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนๆหรือญาติๆ  แต่ถ้าความกลัวเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวันเช่นมีความมกลัวในเรื่องเพศมากจนไม่กล้าแต่งงานหรือกังวลเกี่ยวกับความสกปรกมากจนต้องคอยล้างมือทั้งวันจนมือเปื่อย  ในกรณีนี้ควรได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจจะเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา  ภาวะวิตกกังวลส่วนใหญ่สามารถรับการรักษาได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
 
 
ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจคนที่เป็นประสาทกลัวได้ยาก
ความประสาทกลัวถ้ายิ่งกลัวสิ่งที่ธรรมดาและพบบ่อยเท่าไรคนทั่วไปจะยิ่งไม่เข้าใจและไม่เห็นอกเห็นใจ  คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าจะมีคนกลัวลูกหมาที่ขี้เล่น กลัวนกที่บินโฉบไปมา กลัวการออกจากบ้านไปได้อย่างไรคนมักเข้าใจว่าผู้ป่วยแกล้งทำหรือดัดจริตและควรพยายามควบคุมตัวเองหรือไม่ก็ต้องบังคับกัน  คนทั่วไปไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของความรู้สึกและความเดือดร้อนที่เกิดจากความประสาทกลัว   ผู้ป่วยรายหนึ่งบอกว่า "ฉันพบว่าคนทั่วไปมักไม่ยอมเข้าใจความประสาทกลัว  เขามักมองว่า "อย่าโง่นักเลยไม่กัดหรอกน่ะ" เขาไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างความกลัวธรรมดา-หรือความไม่ชอบอะไรบางอย่างกับการเป็นประสาทกลัวซึ่งเป็นความกลัวจับจิตจับใจต่อสิ่งนั้น"  คนทั่วไปคงจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้ง่ายขึ้นถ้าได้รู้จักความประสาทกลัวต่อของทั่วๆไปมากขึ้น  ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งกลัววิกและผมปลอมถึงขนาดจะเข้าร้านทำผมได้ต่อเมื่อเขาเก็บวิกไปซ่อนไว้หมดแล้วเท่านั้น  เธอจะไม่ยอมเข้าใกล้คนใส่วิกและจะรีบเดินผ่านผมปลอมอย่างรวดเร็วและไม่ยอมนั่งกินข้าวตรงข้ามกับคนใส่วิกเด็ดขาด  เวลามีใครที่ไม่ทราบว่าเธอกลัววิกใส่วิกเข้ามาในห้องเธอแทบจะกระโดดทะลุหน้าต่างหนี  เธอรู้สึกอับอายกับการที่ต้องมากลัวอะไรแบบนี้
 
คนทั่วไปไม่เข้าใจว่ามีความกลัวประเภทนี้อยู่ในโลกได้อย่างไร เราเองก็ยังไม่ทราบว่าความประสาทกลัวเริ่มเกิดขึ้นมาได้อย่างไรแต่เรารู้ว่ามันแผ่ขยายต่อไปได้  การที่เราหนีแต่ละครั้งจะทำให้เราอยากหนีอีกในครั้งต่อไป  ถ้าเราไม่จัดการอะไรกับความประสาทกลัวเอาแต่คอยหนีและคอยหลีกเลี่ยงที่จะเจอกับสิ่งที่กลัวความกลัวจะแผ่ขยายออกไปอีก  ยิ่งถ้าเราเก็บความกังวลนี้ไว้ไม่ยอมบอกใครทำให้ไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนที่อาจมีปัญหาคล้ายๆกันความประสาทกลัวจะยิ่งมากขึ้น  
 
ความอายและการเก็บซ่อนความประสาทกลัว
การที่คนอื่นไม่เข้าใจทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากรู้สึกอับอายกลัวว่าคนอื่นจะหัวเราะเยาะที่กลัวอะไรแบบนี้และเก็บซ่อนความกังวลไว้คนเดียว  แม้กระทั่งถึงคราวที่ปิดต่อไปไม่ได้แล้วผู้ป่วยก็ยังไม่ยอมรับง่ายๆแต่จะเลี่ยงว่าเป็นเพราะปวดหัวใจสั่นท้องเสียหรือเหนื่อยแทน  ผู้ป่วยอาจกลัวว่าตนจะเป็นบ้าด้วยการที่ผู้ป่วยพยายามปิดบังนี้เองอาจทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยสังเกตุไม่ออก  แม่บ้านที่เป็นโรคไม่กล้าออกนอกบ้านอาจอยู่กับบ้านนานเป็นปีโดยที่คนที่ไปมาหาสู่กันหรือญาติๆไม่รู้เลยว่าเธอมีปัญหาตัวอย่างเช่นผู้ป่วยกลัวออกจากบ้านหลายๆรายถูกเปิดเผยโดยบังเอิญในช่วงโครงการเปลี่ยนบ้านในนิวยอร์คครอบครัวที่ยากจนและอาศัยอยู่ในห้องๆเดียวได้บ้านใหม่และมีนักสังคมสงเคราะห์มาคอยติดตามดูแลหลังจากนั้นไม่นานปรากฏว่าผู้หญิงหลายคนที่เป็นโรคกลัวออกนอกบ้านยังคงมีอาการอยู่ในบ้านใหม่  บางรายจะนอนไม่หลับถ้าไม่ได้เอาลูกมานอนใกล้ๆ  บางรายพยายามจัดที่นอนให้เหมือนบ้านเก่า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจชวนน้องสาวหรือเพื่อนมาอยู่ด้วย  แม้ว่าอพาร์ตเม้นท์ใหม่จะมีห้องหลายห้องก็ตามจะมีเพียงห้องเดียวที่ใช้ได้  ไม่นานก็จะเห็นได้ชัดว่าผู้ป่วยเหล่านี้กลัวการเดินทางหรือกลัวการที่จะต้องทำอะไรคนเดียวตามลำพัง  ความประสาทกลัวไม่หายง่ายๆแต่เวลาที่อยู่ในภาวะที่ลำบากมากๆผู้ป่วยอาจเก็บซ่อนความกลัวไว้ได้ชั่วคราว  ในค่ายกักกันแห่งหนึ่งในยุโรปส่วนที่ถูกนาซียึดไว้มีคนตายหรือถูกส่งต่อไปค่ายสังหาร  ถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน  คนจะไม่บ่นถึงความประสาทกลัวและเก็บซ่อนไว้เพื่อให้ยังได้ทำงานอยู่ไม่ถูกยิงทิ้งหรืออบแก้สพิษไปเสียก่อน  ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ชัดเจนเลยแม้ว่าจะมีโรคทางจิตเวชอย่างอื่นเกิดขึ้นก็ตาม  หลายเดือนหลังจากเป็นอิสระและได้กลับบ้านผู้ป่วยบางรายที่ไม่แสดงอาการประสาทกลัวในค่ายกลับมามีอาการเดิมอีก  
 
ปัญหาอื่นที่อาจสับสนกับความประสาทกลัว
อาการบางอย่างดูคล้ายความประสาทกลัวแต่ก็สามารถแยกจากกันได้  ดังตัวอย่างความกลัวโชคลางและข้อห้าม(taboo)เป็นเป็นความเชื่อเกี่ยวกับโชคดีโชคร้ายที่คนในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันเชื่อเหมือนๆกันเช่นเชื่อว่าเดินลอดใต้บันไดแล้วจะโชคไม่ดี,หรือเชื่อว่าถ้วเอานิ้วกลางทับนิ้วนางแล้ววางมือไว้ตรงหัวใจหรือพูดว่า "เป็นความประสงค์ของพระเจ้า" แล้วจะโชคดี มีคนกล่าวถากถางว่า "ความเชื่อโชคลางเป็นศาสนาของคนอื่น"
ความย้ำคิด(obsession)เป็นความคิดที่ผุดเข้ามาในสมองซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งๆที่ไม่อยากคิดและพยายามฝืนเช่นคุณแม่รายหนึ่งมีความคิดผุดเข้ามาว่าอยากจะบีบคอลูกที่หลับอยู่  คำว่าย้ำคิดมีที่มามาจากภาษาละตินว่า "obsidere" ซึ่งแปลว่า "รบกวน" ผู้ป่วยถูกความคิดที่ตนไม่ต้องการเหล่านี้รบกวนผู้ป่วยมักจะมีความย้ำทำ(compulsion)ด้วยโดยรู้สึกว่าต้องทำอะไรซ้ำๆทั้งที่ไม่อยากทำเช่นต้องล้างมือวันละ ๙๐ ครั้งเพราะมีความรู้สึกว่ามือสกปรกทั้งๆที่รู้ว่ามือสะอาดแล้ว
ความครุ่นคิด(preoccupation)เป็นการคิดอะไรซ้ำๆโดยไม่มีความรู้สึกอยากต่อต้าน 
ความคิดนั้นเช่นการครุ่นคิดว่าตนไม่เอาไหนในเรื่องเพศในเด็กวัยรุ่น
ความรู้สึกถูกกล่าวพาดพิง(sensitive ideas of reference)เป็นความกลัวว่าคนอื่นจะทำหรือพูดอะไรพาดพิงถึงตนทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ใช่เช่นความคิดว่าคนทั้งห้องกำลังพูดถึงตนอยู่เมื่อตอนที่ตนเดินเข้ามา
ความหวาดระแวงหลงผิด(paranoid delusions)อาจมีความหมายรวมไปถึงความกลัวว่าจะมีใครต่อต้านตนโดยไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด
การท้าทายความประสาทกลัว(counterphobias) พฤติกรรมต่อต้านความประสาทกลัวเป็นความอยากเข้าไปเผชิญสถานการณ์หรือสิ่งที่ตนกลัวอยู่เรื่อยๆ  อาจเกิดเมื่ออาการยังไม่มากหรือเมื่อผู้ป่วยพยายามเอาชนะความกลัว  สุภาพสตรีท่านหนึ่งพยายามเอาชนะความกลัวความสูงโดยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน  พฤติกรรมท้าทายความประสาทกลัวอาจช่วยผู้ป่วยได้โดยการเผชิญกับสิ่งที่กลัวทำให้ผู้ป่วยค่อยๆคุ้นเคยและหายกลัวได้  ความพอใจที่สามารถควบคุมความกลัวได้อาจทำให้ผู้ป่วยที่กลัวทะเลกลายเป็นนักว่ายน้ำหรือนักเล่นเรือใบผู้มุ่งมั่นหรือคนเคยกลัวเวทีอาจพยายามขึ้นพูดในที่สาธารณะทุกครั้งที่มีโอกาส  พฤติกรรมท้าทายความประสาทกลัวก็เหมือนกับการที่เด็กชอบเล่นเกมส์ที่น่าตื่นตกใจ  หรือในผู้ใหญ่ที่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆเช่นแข่งรถหรือการไต่เขา  แต่ก็ไม่ใช่ว่ากิจกรรมทุกชนิดจะเป็นพฤติกรรมต่อต้าท้าทายความประสาทกลัวไปหมด  คนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้โดยไม่ได้มีความกลัวเลย  มีแต่ความตื่นเต้นท้าทายและความสนุกสนาน
 
ความรังเกียจ(aversion) มีคนบางคนที่ไม่ถึงกับกลัวสถานการณ์บางอย่างแต่มีความไม่ชอบอย่างมากที่จะจับ  ชิม  หรือได้ยินอะไรที่คนทั่วไปรู้สึกเฉยๆหรือชอบ  ความรู้สึกขยะแขยงที่เกิดขึ้นต่างจากความกลัวอยู่บ้าง ความรังเกียจทำให้รู้สึกเสียวฟัน เสียวสันหลัง เนื้อตัวเย็นหน้าซีด และหายใจเฮือก  เราจะรู้สึกขนลุก ไม่เป็นสุข บางครั้งรู้สึกจะอาเจียน แต่ไม่รู้สึกตกใจ  บางครั้งอาจมีความรู้สึกอยากเช็ดนิ้วหรือเอาครีมมาทาความรู้สึกรังเกียจบางอย่างจะเป็นมากขึ้นถ้าผิวหนังหยาบหรือตัดเล็บไว้ไม่เสมอกันทำให้มีความรู้สึกติดปลายนิ้วเวลาลูบผ่านอะไร  ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งไม่ชอบของที่มีผิวเป็นขนสั้นๆนุ่มๆอย่างมากเช่นผิวลูกพีช  ลูกเทนนิสใหม่ๆ หรือพรมบางชนิด เขาจะไม่เข้าห้องที่ปูพรมใหม่ๆที่มีเนื้อแบบนั้น  เวลาเล่นเทนนิสเขาต้องใส่ถุงมือข้างหนึ่งไว้จับลูกบอลจนกว่าขนจะหลุดหมด  คนบางคนมีปัญหากับการหยิบจับกระดุมมุก สำลี กำมะหยี่ หรืออะไรจำพวกนี้  บางคนชอบดูกำมะหยี่ที่วางโชว์อยู่แต่ไม่อยากจับ  ความรู้สึกทำนองเดียวกันอาจเกิดกับเสียงชอลค์ขีดกระดานดำหรือเสียงมีดครูดกับจาน  ความรังเกียจเหล่านี้แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่จริงๆแล้วอาจรบกวนมาก  สุภาพสตรีท่านหนึ่งไม่ชอบเสียงชอลค์ขีดกระดานดำจนต้องเลิกล้มความตั้งใจที่จะเป็นครู  อีกท่านหนึ่งไม่ชอบกำมะหยี่จนไปงานเลี้ยงของเด็กๆไม่ได้  อีกคนบอกว่า "กระดุมทุกชนิดทำให้ฉันรู้สึกคลื่นไส้ ฉันไม่ชอบมันตั้งแต่เด็ก ลุงของฉันก็เป็น  ฉันใส่ได้เฉพาะเสื้อผ้าที่ใช้ซิบกับตะขอเท่านั้นมีกระดุมไม่ได้เลย"  ของที่คนบางคนรังเกียจมีได้มากมาย  รายการวิทยุในอังกฤษรายการหนึ่งนพ.จอห์น ไพรซ์ และผู้ร่วมงานเชิญชวนให้ผู้ฟังที่คิดว่าตนมีความรังเกียจอะไรบางอย่างอยู่เขียนบรรยายเข้ามาร่วมรายการปรากฏว่ามีจดหมายพรั่งพรูเข้ามามากมายซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกเวลาเกิดความรังเกียจได้ดีขึ้น  จดหมายส่วนใหญ่พูดถึงความรังเกียจที่จะจับสิ่งของมากกว่า ๑ อย่างและหลายๆคนชอบดูวัตถุที่ตนไม่กล้าแตะโดยเฉพาะผู้ที่ไม่กล้าจับกระดุมเงาๆ  ความรู้สึกขยะแขยงที่พบบ่อยที่สุดคือการจับสำลีเส้นลวด ฝอยขัดหม้อ หรือกำมะหยี่  ที่พบบ่อยเช่นกันได้แก่การรังเกียจรสหรือกลิ่นบางอย่างทำให้ต้องเลี่ยงอาหารบางชนิดตัวอย่างที่พบบ่อยคือหัวหอม จดหมายหลายๆฉบับพูดถึงความขัดแย้งกันระหว่างเด็กที่ต้องใส่ชุดกำมะหยี่ในงานเลี้ยงกับแม่ที่ไม่เข้าใจว่าทำไม่เด็กถึงไม่ชอบใจ  "ตั้งแต่จำความได้ฉันไม่ยอมจับกำมะหยี่เลย   แม่บอกว่าฉันแผลงฤทธิ์เต็มที่ (ตอนนั้นอายุประมาณ๓ขวบ) เมื่อต้องใส่ชุดปาร์ตี้กำมะหยี่สีฟ้าน่ารักคอปกและข้อมือสีขาวที่แม่ทำให้  เมื่อถึงเวลางานฉันต้องใส่มันจนได้ด้วยความเหน็ดเหนื่อยของแม่  ฉันยืนกำมือแน่นกางแขนห่างจากตัวประมาณหนึ่งคืบและได้แต่ร้อง "ไม่เอาๆ" และฉันก็ไม่เคยเปลี่ยนความคิดเลย ฉันอายุจะ๕๐แล้ว หน้าร้อนที่ผ่านมาฉันไปซื้อเสื้อผ้าและเดินไปดูตรงที่โชว์กำมะหยี่(ฉันชอบดู)ฉันบอกกับตัวเอง"น่าอายน่ะ ฉันโตแล้วนะ กล้าหน่อยสิ หยิบขึ้นมาดู "ฉันยืนคิดอยู่เกือบ ๒ นาทีพยายามบอกตัวเองว่ามันน่ารักออกจะตายไป  ฉันยื่นมือไปจับขึ้นมาทั้งกำมือ-แต่ความรู้สึกยังเป็นเหมือนเดิม!เสียวฟัน!ขยะแขยงจริงๆ! ฉันว่าไม่ใช่แค่น่าอายเฉยๆนะ?  ฉันเลิกหวังว่าฉันจะมีโอกาสออกงานหรือไปโรงละครในชุดกำมะหยี่สีพลอย  เวลาฉันไปบ้านใครที่มีเบาะกำมะหยี่ฉันต้องคอยระวังไม่ให้มือหรือแขนที่อยู่นอกเสื้อไปถูกมัน!"
 
เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งไม่เพียงแต่ไม่ชอบกำมะหยี่เท่านั้นแต่ยังเป็นกับหนังกลับ ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัตว์  และเน็คไทที่มีขนปุยๆด้วย  "ทันทีที่ฉันสัมผัสเส้นใยประเภทนี้ฉันจะรูสึกซ่าตั้งแต่หัวจรดเท้าเลย  ฉันอายุแค่๑๕และตอนเด็กๆแม่ก็ไม่รู้หรอกว่าฉันรู้สึกอย่างไรเวลาจับฉันแต่ชุดกำมะหยี่ที่น่าขยะแขยงหรือให้เนคไทขนๆกับฉันและสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันเลิกสูบบุหรี่คือก้นกรองก็เป็นกำมะหยี่ชนิดหนึ่งเหมือนกัน"  จดหมายบางฉบับบ่งบอกว่าความรังเกียจอาจเกิดในครอบครัวได้  พ่อของฉันไม่ยอมให้แม่แต่งชุดกำมะหยี่เพราะเขาไม่กล้าแตะต้องมัน(เวลาเต้นรำ)  ซึ่งรวมไปถึงอะไรที่คล้ายๆกำมะหยี่ด้วยเช่นผ้าที่มีขนเดี๋ยวนี้ฉันเองก็กลัวเหมือนพ่อแล้ว  ลูกสาวของฉัน (อายุ๒๗) ก็เป็นแบบเดียวกันตั้งแต่ยังเล็กๆเธอจะไม่ชอบของเล่นที่เป็นผ้ามีขน  นี่เลยกลายเป็นการมีคน๓ชั่วคนกลัวของอย่างเดียวกันโดยไม่มีเหตุผล
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือความรู้สึกเสียวฟันเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีฟันจริงๆ  ครอบครัวของฉันเป็นเกือบทุกคน  แม่ของฉันเกลียดเสียงช้อนขูดกระทะและบอกว่ารู้สึกเสียวฟันทั้งๆที่แกไม่มีฟันแล้วและต้องใส่ฟันปลอมทั้งบนและล่าง  พี่ชายคนหนึ่งเกลียดเสียงบดเกลือรวมทั้งเสียงเล็บครูดฝาผนังด้วย  ฉันเองไม่ชอบการที่เด็กๆเล่นลูกโป่งโดยเอานิ้วถูให้เกิดเสียงหรือเสียงขัดพื้น-คิดถึงขึ้นมาแล้วขนลุก  ฉันไม่กล้าจับสำลีเพราะทำให้รู้สึกจั๊กจี้มือ กับพวกฝอยขัดหม้อก็เหมือนกัน  ลูกสาวคนโตของฉันทนไม่ได้เวลาฉันตะไบเล็บ ส่วนคนเล็กไม่ชอบแตะกำมะหยี่
สำลีแห้ง
สุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งรู้สึกสั่นเวลาจับสำลีจนตัดสินใจไม่เรียนพยาบาล  ต่อมา "เมื่อการล้างแผลสมัยใหม่ใช้ปากคีบจับสำลีฉันจึงสมัครเป็นพยาบาล  แรกๆฉันรู้สึกรำคาญมากแต่เมื่อชุบสำลีกับน้ำยาเย็นๆหรือยาล้างแผลความกระอักกระอ่วนที่จะจับสำลีก็หายไป  ทุกวันนี้แม้ว่าฉันจะยังไม่ชอบจับมันอยู่แต่ความรู้สึกสั่นเป็นน้อยลงมากแล้ว  ดูเหมือนว่าความไม่ชอบนี้จะเป็นกับคนในครอบครัว  "สามีของฉันก็ไม่ชอบอยู่ใกล้สำลี ลูกชายก็เหมือนกัน  ลูกสาวก็เป็นตอนเล็กๆซึ่งฉันแกล้งทิ้งสำลีชิ้นเล็กๆไว้ทั่วบ้านซึ่งก็ทำให้หายได้แต่ต่อมาเธอบอกฉันว่ากลัวอีกแล้ว  เธออายุ ๒๗ แล้วน่าแปลกไหม
หนังกลับ(suede)
ชายผู้หนึ่งเขียนมาว่า "ตลอดชีวิตผมไม่ชอบจับหนังกลับหรือของเนื้อแบบนั้น ถ้าบังเอิญไปโดนเข้าผมจะขนลุกซู่ทันที จะรู้สึกเย็นวาบไปทั้งสันหลัง และสะดุ้งกลับราวกับโดนน้ำร้อนลวก แค่คิดถึงก็ทำให้รู้สึกขนลุกขนพองแล้ว! ผมเล่นเทนนิสไม่สนุกเท่าที่ควรเพราะผิวของลูกของมัน  โต๊ะเล่นไพ่ก็เหมือนกันเวลาปลายนิ้วไปโดนจะรู้สึกอย่างกับแปรง-ผมเลยไม่เล่นไพ่เพราะเหตุนี้  การซักพรมด้วยแชมพูเป็นงานที่ทำให้ผมขยาดมาก  ไม่ใช่เพราะงานหนักแต่เป็นเพราะเกลียดความรู้สึกจากขนพรมเปียกๆ ผมลูบช้อนไม้เปียกๆไม่ได้-นี่เป็นเรื่องตลกสำหรับภรรยาของผมกว่า๒๐ปีที่อยู่ด้วยกันมา!"
 
ผ้าขนสัตว์เปียกๆ
"ฉันจับผ้าขนสัตว์หรือผ้าขนสัตว์เทียมเปียกๆไม่ได้ หลังจากซักผ้าประเภทนี้ฉันถึงกับหุบนิ้วไม่ลงจนกว่ามือจะแห้ง ฉันต้องกัดลิ้นไว้เพื่อลดความรู้สึกเสียวฟัน"
 
ผิวลูกพีช
ความรังเกียจผิวลูกพีชทำให้บางคนไม่ยอมปอกลูกพีช คนที่ชอบกินลูกพีชบอกว่าต้องให้คนอื่นปอกให้ ความรังเกียจนี้อาจรุนแรงมากๆได้ "ฉันรังเกียจผิวลูกพีชอย่างมากแต่กับแอปริคอทแล้วเป็นไม่ค่อยมาก  เวลาเห็นใครกัดลูกพีชทั้งเปลือกฉันจะเกิดความขยะแขยงขึ้นมาทันทีและจะเป็นอยู่เป็นชั่วโมง  การนึกถึงมันก็ยังทำให้ฉันตัวสั่นได้"
 
ยาง
"ตอนเด็กๆฉันเคยกลัวการเล่นเกมส์ที่ต้องใช้ลูกโป่งในงานวันเกิดและฉันต้องร้องห่มร้องไห้พยายามบอกแม่บ่อยๆว่าจะไม่ใส่รองเท้าบูทยางเอง  ฉันจะไม่ว่าอะไรถ้ามีคนใส่ให้..ฉันเกลียดมันเพราะเวลาจับของ๒อย่างนี้ฉันจะขนลุก  หลังเย็นวาบ ฟันจะเริ่มกระทบกันและหายใจไม่ออก..ราวกับตกน้ำเย็นๆมา"
"ฉันยอมรับว่าฉันจับของพวกนี้ได้เมื่อจำเป็นเวลาทำให้ลูกๆและอาการของฉันไม่รุนแรงเท่าตอนเด็กๆแล้วแต่ฉันก็ยังต้องสูดหายใจยาวๆเพื่อลดอาการหนาวสั่น" อย่างที่นพ.ไพรซ์กล่าวไว้  ความรังเกียจเหล่านี้น่ารำคาญมากกว่าจะเป็นอุปสรรคกับชีวิตประจำวันแต่บางรายก็มีผลต่อการเลือกอาชีพเช่นพยาบาล  ครู และมีผลต่องานในบ้าน คนที่ไม่ยอมล้างชามเพราะไม่ชอบแตะต้องหม้อหรือกระทะไม่จำเป็นจะต้องเป็นการแกล้งทำเสมอไป  แต่อย่างไรก็ตามคนที่เป็นมากขนาดในจดหมายฉบับสุดท้ายนี้มีน้อยมาก
เรามีลูกชายคนหนึ่งชื่อเจมส์อายุ๘ขวบ  เขารังเกียจสิ่งต่างๆหลายอย่างมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งโดยการสัมผัสและโดยการกิน…เริ่มเป็นตั้งแต่๖ขวบและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ  การจดรายการของที่ไม่ทำให้เขา "หนาว" ยังจะง่ายกว่าเลย…เขารังเกียจวัตถุสังเคราะห์ทุกชนิด ผ้าขนสัตว์หลายชนิด แปรง กระดาษชำระ เสียงกระโดด เสียงขัดพื้น อ้อ!แล้วก็ทราย-หาดทราย! ฉันแปลกใจกับรายการสิ่งที่เขาเกลียด  เวลาซื้อเสื้อผ้าให้ฉันก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะใส่ได้หรือเปล่า อาการเกลียดของเขาคือหน้าซีด ซี้ดปาก ตัวสั่น  และถ้าเป็นมากๆจะขนลุก…ถ้าเป็นมากกว่านี้เขาคงต้องแก้ผ้าไปโรงเรียน! เขาเป็นลูกคนโตในจำนวน ๒ คน [คนที่ ๒ เป็นผู้หญิงไม่เกลียดอะไรเลย]  ตัวฉันเองและสามีก็เหมือนคนทั่วๆไปคือเกลียดอะไรนิดๆหน่อยๆคนละอย่างสองอย่าง เขายังติดของเล่นชิ้นหนึ่งมาก เป็นตุ๊กตาสุนัขขาดๆเหม็นๆ  เขาจะมีความสุขกับการจับและดมมันมาก
ผ้าห่มของไลนัส: ของประจำตัว(soterias)
เรื่องของตุ๊กตาสุนัขขาดๆนำเราไปสู่เรื่องของผ้าห่มของลินนัส เด็กที่น่ารักในการ์ตูนพีนัท  เขามักไปไหนต่อไหนโดยเอาผ้าห่มเก่าๆของเขาไปด้วย ผ้าห่มของลินนัสเป็นของประจำตัวชนิดหนึ่ง  ของประจำตัวหมายถึงวัตถุที่คนๆนั้นผูกพัน  ซึ่งตรงข้ามกับความรังเกียจและความประสาทกลัว มักเป็นของส่วนตัวที่ให้ความสุขแบบพิเศษสำหรับคนๆนั้นโดยเฉพาะแม้ว่าคนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นของธรรมดาๆ  เช่นของเล่นและตุ๊กตายัดนุ่นที่เด็กเล็กๆชอบเอาติดตัว  พวกเครื่องรางที่ผู้ใหญ่จำนวนมากพกติดตัวก็เช่นกัน  เด็กหลายๆคนเอาผ้าห่มหรือตุ๊กตายัดนุ่นตัวเก่งติดตัวไปด้วยทุกที่จนเก่าสกปรกขาดรุ่งริ่งเป็นผ้าขี้ริ้ว  เด็กจะติดของมากจนแม่ไม่สบายใจและพยายามเก็บไปทิ้งซึ่งเด็กอาจเสียใจมาก  ผู้ที่เป็นประสาทกลัวก็อาจติดของประจำตัวบางอย่างซึ่งช่วยลดความกลัวได้  บางรายจะรู้สึกอุ่นใจถ้าพกยาดมติดตัวไว้ บางรายแค่มียากล่อมประสาทติดกระเป๋าอยู่แม้ไม่เคยได้ใช้เลยก็สบายใจแล้ว
 
ประวัติความเป็นมาของความกลัว
ความกลัวไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย  เกือบ ๒๐๐๐ ปีก่อนฮิปโปเครติสกล่าวถึงชายคนหนึ่งที่เป็นประสาทกลัวขลุ่ย  ถ้าเขาไปงานเลี้ยงตอนกลางคืนทันทีที่ได้ยินเสียงขลุ่ยเขาจะเกิดอาการตื่นกลัวขึ้นมาทันทีแต่ถ้าเป็นกลางวันแล้วไม่เป็นไร  อีกรายเป็นโรคกลัวความสูงถึงขนาดไม่กล้ายืนริมหน้าผา  บนสะพาน  หรือแม้แต่ริมคูน้ำตื้นๆ  มีการเขียนถึงความประสาทกลัวอยู่เรี่อยๆ  ปี ๑๖๒๑ (พ.ศ.๒๑๖๔)โรเบิร์ต  เบอร์ตันพิมพ์หนังสือชื่อ "กายวิภาคศาสตร์ของภาวะซึมเศร้า" ว่า "นอกจากจะทำให้หน้าแดงหน้าซีดตัวสั่นเหงื่อแตกแล้วภาวะที่ว่านี้มีผลร้ายอีกหลายอย่าง…เขาจะอยู่อย่างหวาดกลัวไม่มีที่สิ้นสุด…ไม่มีวิธีใดๆที่จะมาแก้ความกลัวนี้ได้"  เบอร์ตันบรรยายความแตกต่างระหว่างความกลัวและความซึมเศร้าและกล่าวถึงบุคคลในประวัติศาสตร์หลายๆคนที่เป็นประสาทกลัวเช่นทัลลี่ (Tully) และเดโมสทีนส์ (Demosthenes)  ซึ่งเป็นโรคตื่นเวทีทั้งคู่ และออกุสตุส ซีซ่าร์ (Augustus Caesar) ซึ่งเป็นโรคกลัวความมืด
 
เบอร์ตันเขียนถึงผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่ง..ไม่กล้าเดินกลับบ้านคนเดียวเพราะกลัวเป็นลมหรือตายไปเลย  นอกจากนั้นเขายังกลัวว่าทุกคนที่เขาพบจะปล้น หาเรื่องทะเลาะ หรือไม่ก็ฆ่าเขา อีกอย่างที่ทำให้เขาไม่กล้าไปไหนคนเดียวคือกลัวเจอผี ผู้ร้าย หรือกลัวจะไม่สบาย เขายังไม่กล้าขึ้นสะพาน อยู่ใกล้บ่อน้ำ ท้องร่อง เนินเขาชันๆ  อ่างน้ำมนต์ในโบสถ์ เพราะกลัวว่าจะเผลอกระโดดลงไป  เวลาฟังสวดเขาก็กลัวจะเผลอตะโกนอะไรออกมา  เวลาปิดประตูอยู่ในห้องคนเดียวเขาจะกลัวหายใจไม่ออกและต้องพกยาดมติดตัวเป็นประจำ  ถ้าเขาอยู่ในที่ๆคนมากๆหรืออยู่ในโบสถ์ซึ่งออกมาลำบากเขาจะทนนั่งอยู่ได้แต่จะรู้สึกทรมานมาก
หลังจากนั้นก็มีการกล่าวถึงความประสาทกลัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กษัตริย์เจมส์ที่๑แห่งอังกฤษไม่กล้ามองดาบที่ไม่ได้อยู่ในปลอกจนมีผู้กล่าวว่า "อลิซาเบธเป็นกษัตริย์ส่วนเจมส์ที่๑เป็นราชินี" กษัตริย์อีกองค์หนึ่งคือเจอร์มานิคัส (Germanicus) กลัวไก่ตัวผู้และเสียงไก่ขัน   เมื่อโรคซิฟิลิสระบาดในยุโรปโรคประสาทกลัวซิฟิลิสก็ตามมา  ในปี ๑๗๒๑ (พ.ศ.๒๒๖๔) แพทย์ผู้หนึ่งบรรยายอาการโรคประสาทกลัวซิฟิลิสไว้ว่า  แค่สิวเม็ดเดียวหรือมีอะไรเจ็บๆขึ้นมาหน่อยผู้ป่วยก็จะเป็นกังวลจนต้องไปหาหมอ  อาการจะรุนแรงจนแพทย์เองยังรู้สึกว่ารักษายากกว่าซิฟิลิสจริงๆเสียอีก  ความประสาทกลัวอื่นๆของบุคคลในประวัติศาสตร์ได้แก่ของกษัตริย์เฮนรี่ที่ ๓ แห่งฝรั่งเศสซึ่งกลัวแมวและดยุคแห่งชอนเบอร์กซึ่งเป็นนายพลชาวรัสเซียผู้โด่งดังผู้หนึ่งซึ่งกลัวกระจกเงาจนจักรพรรดินีแคเธอรีนต้องให้เข้าเฝ้าในห้องที่ไม่มีกระจกเงาเลย  นักเขียนชาวอิตาเลี่ยนชื่อแมนซอนี่ (Mansoni) ไม่กล้าออกจากบ้านคนเดียวเพราะกลัวจะเป็นลมนอกบ้านและต้องพกน้ำส้มสายชูขวดเล็กๆติดตัวไปด้วยทุกที่  เฟดู (Feydeau) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสแทบจะไม่ได้ออกไปไหนตอนกลางวันเลยเพราะกลัวแสงแดด  แม้แต่ซิกมันด์ ฟรอยด์เองก็เคยมีอาการประสาทกลัวเช่นกัน อย่างหนึ่งก็คือ  การกลัวการเดิน  ซึ่งเป็นอยู่หลายปีในช่วงอายุ๓๐เศษ
 
 

  http://s10.histats.com/6.swf  

 

1 Responses to “ความกลัวที่ปกติและที่ผิดปกติ”

  1. jaasasi Says:

    เป็นข้อมูลที่ดีมาก ทั้งหมดคือเกิดจากความคิด..รู้แล้วสบายใจ ว่าเป็นกระบวนการทางความคิด กระตุ้นไปถึงระบบปราสาทอัตโนมัติ เมื่อรู้ความจริงว่าเราพบเจอกับอะไร เรารู้จักมันแล้ว..ที่มาของความกลัว…เรารู้จักมันแล้ว..เราก็เลิกกลัวความรู้สึกกลัวกันได้ซะที หลายคนรู้ความจริงของกระบวนการเคมีทางร่างกาย ว่าเป็นเรื่องปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของร่างกาย เราจะสบายใจ..เราจะไม่เครียด เราจะผ่อนคลาย แล้วเราจะมั่นใจว่า..เรารับมือกับความรู้สึกนี้ได้แล้ว..เราก็จะเลิกกลัว เราก็หลุดพ้นออกจากวังวนนี้ซะที จิตใจเราจะเข้มแข็งขึ้น อาญหาญขึ้น คือความกล้าของจิตใจ..ขอบคุณสำหรับบทความนี้อีกครั้ง ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่เผญิชกับ.ความกลัว..นับแต่นี้ขอให้ทุกคน กล้าหาญทื่จะหลุดพ้นความกลัว


ใส่ความเห็น